RDI Manager

banner Overlay

ความสำคัญและที่มา

ผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรือ RDI manager (Research Development and Innovation Manager) ถือเป็นกลไกสำคัญในการบริหารจัดการงานวิจัย และนวัตกรรมและขับเคลื่อนให้หน่วยงานสามารถส่งมอบผลงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันจำนวน RDI manager ที่มีอยู่ในระบบของไทยยังขาดแคลน และต้อง การการหนุนเสริมทั้งทักษะ ความรู้ ความสามารถ เพื่อให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การสร้าง/พัฒนา RDI manager จึงเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การดำเนิน งานด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานในระบบ ววน. นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปิดช่องว่าง (Gap) ปัญหาความขาดแคลน RDI manager ของประเทศ ให้เพียงพอ และเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานวิจัยของหน่วยงานในระบบ ววน. ให้เป็นไปตามเป้าหมายและสามารถผลักดันการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย และนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ประเทศโดยมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนตามประสบการณ์ความเชี่ยวชาญที่สอดคล้องกับประเภทของ RDI manager ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ 1) RDI Manager ด้านชุมชนและพื้นที่ ดำเนินงานร่วมกับสถาบันคลังสมองของชาติ 2) RDI Manager ด้านเศรษฐกิจ ดำเนินงานร่วมกับ สถาบันพัฒนา บุคลากรแห่งอนาคต สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 3) RDI Manager ด้านนโยบาย ดำเนินงานร่วมกับสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Science, Technology and Innovation Policy Institute-STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ประเภทของผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรือ RDI manager

1.RDI Manager ด้านชุมชนและพื้นที่

คือ ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ ในการบริหารจัดการงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม โดยประยุกต์ใช้กระบวนการ วิธีการ องค์ความรู้ การเสริมพลังและการมีส่วนร่วม ของชุมชนในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งในด้านการพัฒนาคนในชุมชน แก้ปัญหา/พัฒนาพื้นที่ หรือส่งเสริม/ยกระดับคุณภาพ ชีวิตของชุมชน ทั้งด้าน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ในการขยายผลต่อชุมชน ท้องถิ่นและสังคมอื่น

2.RDI Manager ด้านเศรษฐกิจ

คือ ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ ในการบริหารจัดการงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ที่เน้นสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่อาจจะอยู่ในรูปของ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือ บริการใหม่ และขับเคลื่อนไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตหรือ การบริการ เสริมสร้าง ความสามารถด้านการแข่งขันหรือลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

3.RDI Manager ด้านนโยบาย

คือ ผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ ในการบริหารจัดการงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่าง เป็นรูปธรรมทั้งในระดับ นานาชาติ ระดับชาติ และระดับพื้นที่ โดยผลักดันเพื่อไปสู่แนวทางที่ทำให้บังคับใช้ตามกฎหมาย หรือเป็นการปรับแก้ ปรับปรุงระเบียบหรือเป็น ข้อตกลง ร่วมกัน อย่างเป็นทางการ

ความคาดหวังต่อบทบาทและหน้าที่ของผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรือ RDI manager

  1. กำหนด เป้าหมาย กรอบการดำเนินงาน งบประมาณ และกลยุทธ์ /บริหารทรัพยากรและ กิจกรรม (action plan) ของแผนงานที่รับผิดชอบและขับเคลื่อนให้บรรลุและ สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายและพันธกิจของหน่วยงาน และแผน ววน. ของประเทศ
  2. วิเคราะห์ Ecosystem เข้าใจ Value chain ของงาน และสามารถบูรณาการทำงานข้ามศาสตร์ได้
  3. ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ จัดให้เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายใน/ภายนอก เพื่อผลักดันผลงานให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์
  4. ติดตาม ให้คำปรึกษา และช่วยแก้ปัญหาให้กับโครงการภายใต้แผนงาน เพื่อผลักดันให้แผนงานประสบความสำเร็จ
  5. มองภาพอนาคตเพื่อพัฒนาข้อเสนอแผนงานโจทย์วิจัยใหม่ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ความต้องการของประเทศ ทั้งในระดับชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เป็นผู้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้

บทบาท สกสว. และความก้าวหน้าผลการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพผู้จัดการ งานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม หรือ RDI manager

1.ออกแบบเครื่องมือ/กลไก/มาตรการสร้างแรงจูงใจ ในการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ RDI manager

a. พัฒนาหลักสูตรและมาตรฐานของหลักสูตรผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรือ RDI manager ด้านชุมชนและพื้นที่ ด้านเศรษฐกิจ และด้านนโยบาย โดยการพัฒนาหลักสูตร RDI manager ดังกล่าว ได้ทบทวนกรอบแนวคิดการพัฒนาที่อ้างอิงจาก Policy Profession Standards – a framework for professional development, the UK Civil Service, 2019 ซึ่งมีกรอบการพัฒนาความรู้และทักษะด้าน Policy Profession ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ (1) Evidence: Developing and using a sound evidence base (2) Politics: Understanding and managing the political context (3) Delivery: Planning from the outset how the policy will be delivered และดำเนินการพัฒนาโปรแกรมการสร้างขีดความสามารถของ RDI manager ที่ประกอบด้วย 6 โมดูล ได้แก่ โมดูลที่ 1 การกำหนดและออกแบบแผนงาน ววน. (RDI Planning) โมดูลที่ 2 การบริหารจัดการโครงการและแผนงาน ววน. (Program & Project Management) โมดูลที่ 3 การผลักดันงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization) โมดูลที่ 4 การสื่อสารงานวิจัย (Social communication for RDI projects) โมดูลที่ 5 การติดตามและการประเมินผล (Project Monitoring and Evaluation) โมดูลที่ 6 การพัฒนาตัวเองและทักษะด้านอารมณ์ (Soft skills) อย่างไรก็ตามโมดูลดังกล่าวสามารถปรับ/เปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมและจุดเน้นของ RDI manager แต่ละประเภท

ภาพที่ 1 กรอบแนวคิดการพัฒนาหลักสูตรผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรือ RDI manager

b. การจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ และเส้นทางอาชีพ (career path) ที่ชัดเจนของผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรือ RDI manager เพื่อพัฒนา ศักยภาพและสร้างแรงจูงใจของบุคลากรในระบบ ววน. รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศักยภาพหน่วยงานในระบบ ววน. ด้วย ในปีงบประมาณ 2566 อยู่ ระหว่างการเตรียมคณะทำงานเพื่อดำเนินโครงการ การจัดทำร่างมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพและเส้นทางความก้าวหน้าของบุคคลากรด้านการบริหารจัดการการ วิจัยของประเทศไทยโดยกระบวนการมีส่วนร่วม

c. การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิด RDI manager mobilization เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามหน่วยงาน/องค์กร เช่น ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างหน่วยงาน ภาคเอกชน หรือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นต้น อันนำไปสู่การยกระดับความรู้และทักษะของ RDI manager ให้สามารถบริหารจัดการงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น

2.ขับเคลื่อนการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ RDI manager

a. การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้จัดการงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรือ RDI manager ในหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit: PMU) และหน่วยรับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ทั้งในระดับองค์กรและระดับแผนงาน 

b. การจัดประชุมเครือข่าย (RDI manager networking) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และยกระดับการขับเคลื่อนการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกันของ RDI manager ทั้ง 3 ด้าน อย่างต่อเนื่อง

3.ติดตามและประเมินผลการพัฒนาศักยภาพ RDI manager

ที่ผ่านหลักสูตรดังกล่าวข้างต้น เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาความเข้มแข็งของการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมระดับองค์กรให้เป็นระบบและเป็นกลไก สำคัญที่จะสนับสนุนให้การผลักดันการใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรม ตามประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Scroll to Top